โรคตับอักเสบ สาเหตุ อาการและการดูแลรักษา

0
1003

ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่มีน้ำหนักประมาณร้อยละ 3 ของน้ำหนักร่างกาย อยู่ทางด้านขวา มีหน้าที่สร้างน้ำดีเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร กรองและกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เป็นแหล่งสะสมธาตุเหล็ก วิตามินและเกลือแร่ สร้างสารโปรตีนที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด เป็นแหล่งสะสมพลังงานโดยเก็บไว้ในรูปของน้ำตาล มาทำความรู้จักกับ โรคตับอักเสบ กันค่ะ

โรคตับอักเสบโรคตับอักเสบ พบทั้งที่เป็นแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง สำหรับภาวะตับอักเสบแบบเฉียบพลันนั้นสามารถพบได้โดยทั่วไป อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ และ ชนิดอี โรคติดเชื้อ อย่าง ไข้ไทฟอยด์ การรับประทานยาบางชนิด ความอ้วน เป็นต้น เชื้อไวรัสตับอักเสบมักปนเปื้อนมาในอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งอาจเกิดจากอาหารเองหรือผู้ประกอบอาหารเป็นไวรัสชนิดนี้แล้วแพร่สู่ผู้อื่น ผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ 2-3 เดือน แล้วหายเป็นปกติ ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันไวรัส ทำให้ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก

โรคตับอักเสบเรื้อรัง มักเกิดจากไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี สามารถติดต่อกันทางเลือด (การสัก การเจาะร่างกาย การใช้เข็มฉีดยา ลอยแผลถลอก) การมีเพศสัมพันธ์ และการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากแม่สู่ลูกซึ่งพบได้น้อยมากตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบให้แก่ทารกแรกเกิดทุกราย จึงทำให้ลดโอกาสที่จะเป็นพาหะนำโรคลงเรื่อยๆ เชื้อไวรัสตับอักเสบมักตรวจพบในน้ำลาย น้ำนม น้ำอสุจิ

ไวรัสตับอักเสบ คือ ไวรัสที่ทำลายตับโดยตรง เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และอี คนไทยร้อยละ 5 เป็นไวรัสตับอักเสบบี และร้อยละ 1 เป็นอักเสบซี

ไวรัสตับอักเสบทุกชนิดมักมีอาการเหมือนกัน โดยผู้ติดเชื้อจะรู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นบริเวณชายโครงเนื่องจากตับโต มีอาการดีซ่าน คือ ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม สำหรับตับอักเสบจากไวรัสแบบเฉียบพลันเมื่ออาการของโรคเต็มที่แล้ว ก็จะกลับสู่ภาวะฟื้นตัว หายเป็นปกติ พร้อมกับมีภูมิต้านทานไวรัสชนิดนั้นๆเกิดขึ้น แต่สำหรับตับอักเสบแบบเรื้อรังจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และซี จะก่อให้เกิดการอักเสบของตับเรื้อรัง เซลล์ตับจะถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตับแข็ง นำไปสู่การเกิดมะเร็งตับได้

การวินิจฉัยโรคตับอักเสบนั้นสามารถทำได้ด้วยการหาค่าเอนไซม์ที่เกิดจากเซลล์ตับอักเสบ คือ SGOT และ SGPT ซึ่งถ้าค่ามากกว่า 40 แสดงว่าเซลล์ตับเกิดการอักเสบ ต่อจากนั้นแพทย์ทำการหาสาเหตุ อาจทำการตัวเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัส และอาจตรวจด้วยคลื่นเสียงหรือเอกซเรย์จากคอมพิวเตอร์ สามารถช่วยประเมินว่าตับแข็งหรือมีก้อนผิดปกติในตับหรือไม่

ผู้ป่วยโรคตับอักเสบนั้นควรพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ งดเครื่องดื่มแอลกฮอล์ และหมั่นออกกำลังกาย สำหรับผู้ที่มีอาการเรื้อรังควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและควบคุมโรค ยาที่ใช้ในการรักษาจะเป็นกลุ่มยาที่กระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกาย และช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อไวรัส แต่ไม่สามารถจำกัดเชื้อไวรัสได้ ทำให้การอักเสบลดลง ตับเสื่อมน้อยลงมาก เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามการเป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งตับในผู้ป่วยทั่วโลก ในประเทศไทยตรวจพบว่าประชากร 6 ล้านคน เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี

การดูแลตนเองให้ห่างไกลโรคไวรัสตับอักเสบนั้นก็ไม่อยาก เพียงหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงพฤติกรรมส่ำสอนทางเพศ ล้างมือบ่อยๆและทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหารหรือปรุงอาหาร ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบแบบเรื้อรัง และปัจจุบันนี้มีวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และ บี แล้ว การฉีดวัคซีนทำให้เกิดภูมิต้านทานเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดก็จะไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้คะ

รู้จักโรค…ก็เข้าใจโรค…เข้าใจวิธีห่างไกลโรค