พฤติกรรมอะไรบ้าง ที่ทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น

0
5

กรมสุขภาพจิตพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ไม่สังเกตพฤติกรรมอาจจะไม่เห็นความผิดปกติของลูก คิดแค่ว่าลูกซน เรามาทำความเข้าใจโรคสมาธิสั้นคืออะไร และพฤติกรรมแบบไหนคือสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้นคือโรคจิตเวช 

โรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) คือ ภาวะผิดปกติทางจิตเวชที่ส่งผลให้มีสมาธิสั้นกว่าปกติ พบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 3 – 7 ปี แต่ในรายที่เป็นไม่มาก อาการจะแสดงออกชัดเจนหลัง 7 ขวบขึ้นไป สาเหตุแท้จริงนั้นไม่สามารถทราบได้ชัดเจน แต่หนึ่งในนั้นคือการที่สมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิและการยับยั้งชั่งใจทำงานน้อยกว่าปกติ 

อาการเด็กสมาธิสั้นแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ A และ B 

ลักษณะ A มีอาการขาดสมาธิ ติดต่อกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยที่อาการต้องถึงระดับที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก และต้องมีอย่างน้อย 6 ข้อ อาการมีดังนี้ 

1.มักไม่สามารถจดจ่อกับรายละเอียดหรือไม่รอบคอบเวลาทำงาน 

2.มักไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น 

3.มักดูเหมือนไม่ได้ฟังสิ่งที่คนอื่นพูดกับตนอยู่ 

4.มักทำตามคำสั่งไม่ครบ ทำให้ทำงานไม่เสร็จ (โดยไม่ใช่เพราะต่อต้านหรือไม่เข้าใจ) 

5.มักมีปัญหาในการจัดระบบงาน  

6.มักเลี่ยง ไม่ชอบทำงานที่ต้องใช้ความคิด เช่น การทำการบ้าน 

7.มักทำของที่จำเป็นในการเรียนหายบ่อย ๆ เช่น อุปกรณ์การเรียน 

8.มักวอกแวก สนใจสิ่งเร้าภายนอกได้ง่าย 

9.มักหลงลืมทำกิจวัตรที่ต้องทำเป็นประจำ 

ลักษณะ B มีอาการอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น นานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน อาการต้องถึงระดับที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก และต้องมีอย่างน้อย 6 ข้อได้แก่ 

1.อาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) ชอบขยับมือและเท้าไปมา หรือนั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้ 

2.มักลุกจากที่นั่งในที่ๆเด็กจำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่ 

3.มักวิ่งไปมาหรือปีนป่ายในที่ ๆ ไม่สมควรกระทำ 

4.ไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมอย่างเงียบ ๆ ได้ 

5.มัก “พร้อมที่จะวิ่งไป” หรือทำเหมือนเครื่องยนต์ที่เดินเครื่องอยู่ตลอดเวลา 

6.มักพูดมาก พูดไม่หยุด 

7.อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) 

8.มักโพล่งคำตอบโดยที่ฟังคำถามไม่จบ 

9.มักไม่ชอบการเข้าคิวหรือการรอคอย 

10.มักขัดจังหวะหรือสอดแทรกผู้อื่น 

หากเกิดความสงสัยว่าเด็กมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการทันที ที่สำคัญหากเด็กเข้ารับการรักษาจนหายขาดจากโรค นอกจากจะสมาธิดีขึ้น ยังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ในอนาคต