ขมิ้นชัน ชื่อวิทยาศาสตร์ สารพัด สรรพคุณทางยาดีต่อสุขภาพ

0
2157

ขมิ้น หรือ  มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Curcuma longa L. และมีชื่อ ภาษาอังกฤษ ว่า Turmeric ทางการแพทย์แผนไทย ขมิ้นชัน ถือว่าเป็นสมุนไพรชั้นยอด ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและมีสรรพคุณมากล้น เช่น การปรับสมดุลร่างกาย ล้างสารพิษ การลดไขมัน ต้านอนุมูลอิสระ การบำรุงผิวตลอดจนช่วยบรรเทาอาการของโรคต่างๆ แต่สรรพคุณของขมิ้นยังไม่พอแค่นั้น เราทราบอีกอย่าง คือ สามารถแก้ปัญหาด้านความงามของสุภาพสตรี ได้อีกด้วย

ขมิ้นชันแต่ที่น่าทึ่งไปอีกกับแหล่งปลูกขมิ้นชันที่ดีที่สุดในโลก อยู่ที่ไหน เรามาติดตามพร้อมๆ กับขมิ้นชันพืชสมุนไพรสารพัดประโยชน์ และนานาสรรพคุณ

รู้จักขมิ้นชัน ลักษณะและ การขยายพันธุ์ กันก่อน

จากที่ได้สัมผัสตั้งแต่เยาว์วัย เห็นขมิ้นชันปลูกอยู่ข้างบ้าน ข้างครัว เวลาทำแกงทำอาหาร หรือแกงส้ม ก็ต้องไปขุด แล้วก็นำมาตำพริกแกง ขมิ้นชันชอบดินร่วนซุย เราจะใช้ส่วนหัวที่อยู่ใต้ดินนำมาใช้ประโยชน์

ลักษณะ: ใบของขมิ้นจะเป็นสีเขียว ใบเหนียว ปลายใบแหลม มีก้านใบยาวถึงแขนง กาบใบกว้าง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ออดดอกเป็นช่อกระทง ดอกฝอยสีเหลืองอ่อน กลีบดอกสีเขียวอมชมพู เมื่อขุดเอาหัวหรือแขนงขึ้นมาจากดิน ลักษณะเนื้อของขมิ้นจะเป็นสีเหลืองอ่อน(ขมิ้นอ่อน)ไปจนถึงเหลืองทองเข้ม(ขมิ้นแก่) ถ้าใช้มีดตัดแนวขวาง ก็จะเป็นเป็นวง คล้ายวงปีของไม้

การขยายพันธุ์: ใช้ส่วนหัวในการขยายพันธุ์ ชอบดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี แต่ถ้าปลูกด้วยดินทราย ก็จะมีหัวแตกแขนงได้มากกว่าดินอื่นๆ พื้นที่ๆ เหมาะแก่การปลูกของไทยเราจะอยู่ที่ภาคใต้ซะมากกว่าภาคอื่นๆ และที่ภาคใต้นี่เอง ขมิ้นชันจะมีคุณภาพมากกว่า การปลูกที่ภาคอื่น ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพทางด้านสมุนไพร สรรพคุณทางยาอีกด้วย

การเพาะปลูกและการดูแล

ควรเริ่มปลูกตั้งแต่เดือน มีนาคม จนถึง พฤษภาคม โดยการเตรียมแง่งที่แก่ และมีตา ประมาณซัก 2 -3 ตา แล้วนำไปผังลงในแปลงดินที่เตรียมไว้

เตรียมดินปลูก ใช้ดินร่วนซุย ถ้าให้ดีต้องเป็นดินทราย ถ้าเป็นพื้นที่น้ำท่วม ให้ยกแปลงเป็นร่อง เพื่อกันน้ำท่วม แต่ถ้าปลูกในสวนใต้ต้นไม้ ก็ไม่จำเป็นต้องยกร่อง ระยะห่างในการปลูก 30 x 30 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ฟุต ขุดหลุมประมาณ 1 หน้าจอบ รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก จากนั้นนำพันธุ์ขมิ้นลงปลูก แล้วกลบหน้าดินไม่ต้องแน่น ใช้หญ้าหรือใบไม้กลบทับอีกที เพื่อรักษาความชื้นของหน้าดิน แล้วรดน้ำตาม เมื่อขมิ้นโตได้ประมาณ 6 เดือน ให้พรวนดินโคนต้น ดายหญ้า แล้วเอาหญ้ากลบโคนเพื่อรักษาความชุ่มชื้น

การเก็บเกี่ยว ขมิ้นชันสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนที่ 7 นับตั้งแต่ปลูก ให้สังเกตที่ใบของขมิ้น ดูใบล่างๆ ของกอขมิ้น จะเหี่ยวเป็นสีเหลือง ก็ขุดได้แล้ว แต่ถ้าขุดยาก ก็ให้รดน้ำก่อนจะขุดได้ง่ายกว่า

แหล่งปลูกขมิ้นชันที่ดีที่สุดในโลก

จากที่กล่าวนำมา ว่า แหล่งปลูกขมิ้นชันที่ดีที่สุดในโลก ไม่ใช่ที่ประเทศอื่น แต่เป็นประเทศไทยเรานี่เอง จากรายงานของ Manager.co.th ออนไลน์ ฉบับ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552ขมิ้นที่ดีที่สุดในโลก อยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอ บ้านตาขุนเรียกว่า “ขมิ้นบ้านตาขุน

ทั้งนี้กล่าวอ้าง ข้อมูลจาก เภสัชกรหญิงอังคณา ศรีนามวงศ์ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ทำการวิเคราะห์หาสารที่มีชื่อว่า คิวเคอร์มินอยด์ (Cucurminoid)ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์แก้อักเสบอยู่ในขมิ้นชันจากที่ต่างๆ ทั่วโลกมาทำการทดลอง และพบว่าขมิ้นชันธรรมดาเหล่านั้น จะมีสารดังกล่าวอยู่ในระดับ 3-4 แต่“ขมิ้นชันบ้านตาขุน”ที่อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานีพบว่ามีสารคิวเคอร์มินอยด์อยู่สูงมากถึงในระดับประมาณ 10 ถึง 10 กว่าๆ ซึ่งถือว่าเป็นขมิ้นชันที่ดีที่สุดในโลก ทั้งนี้จากคำบอกกล่าวของ ชาวบ้านบอกว่า ดินที่ใช้ปลูกขมิ้น ที่บ้านตาขุน เป็นดินแดง ซึ่งปลูกอะไรก็งาม ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ขมิ้นที่ปลูกมีคุณภาพตามมาด้วย

สารสำคัญในขมิ้นชันที่ค้นพบ มีอะไรบ้าง

จากหนังสือ นิตยสาร ชีวะจิต ฉบับที่ 320 ปีที่ 14 : 1 กุมภาพันธ์ 2555 ชมนาด ได้กล่าวไว้ในเรื่อง ฉลาดซื้อขมิ้นชันป้องกันมะเร็ง ในหน้า 18 ว่า “ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายร้อยเรื่องที่ยืนยันประโยชน์ของขมิ้นชันในการป้องกันมะเร็ง ทำให้คนส่วนใหญ่หันมากินขมิ้นชันกันมากขึ้น”

สารป้องกันมะเร็งและรักษาโรคกระเพาะอาหารในขมิ้นชัน สาร สำคัญนี้มีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน คือ

  • กลุ่มสารที่ให้สีเหลือง คือ สารที่ทำให้ขมิ้นชันมีสีเหลือง เหลืองส้ม หรือเหลืองแสด คือสารในกลุ่ม เคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoids)
  • กลุ่มสารที่ให้น้ำมันหอมระเหย มีสารประกอบสำคัญ คือ สาร Turmerone, Zingiberene, Borneol เป็นต้น

จากการวิจัยพบว่า สารเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoids) เป็นสาร แอนติออกซิแดนต์ (Antioxidant) ทีมีฤทธิ์ป้องกันและต้านการเกิดอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้าน เชื้อ Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร

นอกจากนี้สารที่ค้นพบในขมิ้นชัน ยังมีฤทธิ์ป้องกัน ลดการแบ่งตัว ยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งด้วยจากการทดลองพบว่า ในหลอดทดลอง นั้น โรคมะเร็งที่ทดลองและได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ คือ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ และ มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น
แต่สำหรับการรักษาด้วยขมิ้นชันกับคนเรานั้นได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งกระดูก เป็นต้น

สรรพคุณโดยทั่วไปของขมิ้นชัน

เราทราบโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า ขมิ้นชัน เราสามารถใช้ทำอะไรได้บ้าง อย่างที่เห็นชัดเจน คือ รักษาอาการท้องอืดเฟ้อ โรคกระเพาะ แผลพุพอง บำรุงผิว เป็นต้น แต่สรรพคุณยังมีมากกว่าที่กล่าวมา ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ขมิ้นชัน สรรพคุณทางยา

ขมิ้นชันนอกจากจะนำมาประกอบอาหาร แล้วเรายังใช้ประโยชน์ทางยาได้อีก โดยการนำเหง้ามาใช้ “เหง้า” มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อรา ลดการอักเสบ และมีฤทธิ์ในการขับน้ำดีอีกด้วย และอีกสรรพคุณทางยา คือมีสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันการเกิดโรคมะเร็งในตับ รวมไปถึงช่วยบำรุงตับ นอกจากนี้ ยังมีสารอาหารต่างๆ หลายชนิด เช่น วิตามินเอ, วิตามินซี, วิตามินอี, และเกลือแร่ต่าง ๆล้วนเป็นประโยชน์ทั้งนั้น

สรรพคุณทางผิวพรรณ

ขมิ้นชันเป็นเครื่องประทินโฉม ของสตรีไทยมาแต่โบราณแล้ว โดยการนำขมิ้นสดไปตำให้แหลก แล้วนำมาทาผิว ทาแขน ทาขา ทาหน้า ดูเป็นสาวผิวสวยธรรมชาติ ไร้สารพิษเจือปน จนมาถึงปัจจุบันขมิ้นชันก็ยังเป็นที่นิยมในการรักษาผิวพรรณอยู่ ซึ่งนอกจากการใช้ทาแล้วยังใช้ต้มร่วมกับสมุนไพรอื่นเพื่อใช้ไอน้ำในกระโจมอบตัว ก็เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน

แนะนำสูตรหน้าใส หน้าเด้ง ด้วยขมิ้นชัน

ขมิ้นสด1 แง่ง, มะนาว 1 ลูก, ดินสอพอง 3 เม็ด โดยนำขิงมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปปั่นรวมกับดินสอพอง 2-3 เม็ด จากนั้นผสมกับน้ำมะนาว ปั่นจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน
ขั้นต่อไปนำมาพอกหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด ใช้มือสัมผัส จะรู้สึกได้เลยว่า ใบหน้าเต่งตึงขึ้น ให้ทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ผิวหน้าจะสดใส ดูหน้าเด้ง ดูดีขึ้นแน่นอน อย่างทันตาเห็น

ใช้ขมิ้นชันในการลดไขมันในร่างกาย

จากงานวิจัยของ มหาลัยมหิดล หน้า ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร โพสโดย “Br J Nutr 2015;113:100-13.”ว่าด้วยการศึกษาภาวะหลอดเลือดแข็งตัว และฤทธิ์ต้านการอักเสบของน้ำมันที่แยกเหง้าของขมิ้นชัน จากการทดลองทำให้ทราบว่า น้ำมันขมิ้นชันขนาด น้ำมันขมิ้นชันขนาด 300 มก./กก. ทำให้ระดับไขมันในเลือดและไขมันในหลอดเลือด ที่เกิดจากการกินอาหารที่เป็นไขมันสูง มีระดับไขมันลดลง
และจากการสรุป ก็ได้ความว่า น้ำมันขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านภาวะหลอดเลือดแข็งตัวและต้านการอักเสบโดยมีกลไกการออกฤทธิ์ผ่านการกระตุ้นและยับยั้งการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและสลายไขมันรวมทั้งยับยั้งกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นจากการได้รับอาหารที่มีไขมันสูง

อีกหนึ่งสรรพคุณใช้ล้างสารพิษในร่างกาย

ขมิ้นชันมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ Curcumin สารนี้จะช่วยเร่งระบบกำจัดสารพิษของร่างกายให้เร็วขึ้น

ปรับสมดุลร่างกายด้วยขมิ้นชัน

ภาวะร่างกายไม่สมดุล อาจจะเกิด ร้อนและเย็นขึ้นพร้อมๆ กัน หรือ ภาวะร่างกายเย็นเกินอย่างเดียว สามารถแก้ได้ด้วย นำขมิ้นมาต้มน้ำร้อน แล้วดื่ม

การนำขมิ้นชันไปใช้ สำหรับภาคครัวเรือน

ขมิ้นนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารได้หลายอย่าง เช่น ส่วนผสมของเครื่องแกงส้ม ใต้, เครื่องแกงผัดเผ็ด, ตำพอแหลกนำไปคลุกกับปลาทอด, ต้มส้มปลา, ต้มไก่บ้าน เป็นต้น

6 โรคที่ขมิ้นชันช่วยท่านได้

1) ช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน มีสารที่ช่วยแก้การอักเสบในกระเพาะ
2) ช่วยป้องกันโรคหัวใจ สาร เคอร์คูมิน (Curcumin) เป็นสารที่ทำให้ขมิ้นมีสีเหลืองสด มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจวาย
3) โรคเบาหวาน สาร เคอร์คูมิน (Curcumin) สามารถชะลอการเกิดโรคเบาหวานได้
4) ป้องกันการเกิดมะเร็ง สาร เคอร์คูมิน (Curcumin) สามารถต่อสู้และป้องกัน โดยการไปยับยั้งการแพร่กระจายการก่อเชื้อโรคมะเร็ง
5) ป้องกันโรคความจำเสื่อม น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากขมิ้น มีส่วนช่วยซ่อมแซมสเต็มเซลล์ในสมอง
6) ลดอาการปวดตามข้อ การทานขมิ้นประจำ จะช่วยลดอาการปวดตามข้อ ทั้งนี้ในขมิ้นมีสารยับยั้งอาการอักเสบ

ผลข้างเคียง

ขมิ้นชันเป็นพืชสมุนไพร เมื่อเป็นขมิ้นสด สามารถใช้กินเป็นอาหาร หรือ ใช้เป็นยาสมุนไพร ทาผิวหน้า ผิวกาย พอกแผลสดได้ แต่ที่มีผลข้างเคียง คือ น้ำมันที่สกัดจากเหง้าขมิ้นแห้ง ไม่ควรกินสูดสม เป็นเวลานานๆ เพราะจะทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด และ ที่ระวังเป็นพิเศษ คือ สตรีมีครรภ์อ่อนๆ ไม่ควรกินขมิ้นชันในปริมาณมาก ซึ่งอาจจะทำให้แท้งได้

ถ้าหากกินขมิ้นชันอยู่แล้วเกิดอาการแพ้ขึ้นมา เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดหัว ควรหยุดรับประทานทันที และก็ไปหาหมอตรวจอาการเบื้องต้น เพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขมิ้นชัน

แน่นอนว่าขมิ้นชันมีสรรพคุณมากขนาดนี้ ก็ต้องมีการนำมาแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น แปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นเสริมความงาม เป็นอาหาร เป็นยา และ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขมิ้นชัน ก็มีออกมานีรูปแบบ แคปซูล ลูกกลอน สบู่ก้อน และ สบู่เหลว เป็นต้น

ขมิ้นชัน ถึงแม้นว่าเรารู้จัก และใช้ประโยชน์กันมานาน แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่เกินความต้องการของร่างกาย ก็ย่อมมีผลเสีย หลีกเลี่ยงโดยการรู้จักใช้ ถ้าใช้เป็นอาหาร ก็ใส่ในปริมาณตามสูตรที่กินกันทั่วไป ซึ่งไม่เป็นอันตรายแน่นอน แต่ถ้าเป็นยาที่สกัดแล้ว ซึ่งความเข้มข้นก็จะมีมากขึ้น ใครที่ใช้กิน ก็ศึกษาดูวิธีการใช้ด้วย ซึ่งจะต้องมี วันที่ผลิต วันหมดอายุ และดูคำแนะนำบนฉลากการใช้ด้วย จึงจะได้ประโยชน์และสรรพคุณสูงสุดในการใช้ขมิ้นชัน เพื่อเป็นอาหารและเป็นยา

ข้อมูลอ้างอิง

ขมิ้นชัน (Tumeric) – edtech.ipst.ac.th
น้ำมันขมิ้นชันกับฤทธิ์ต้านภาวะหลอดเลือดแข็งตัวและฤทธิ์ต้านการอักเสบ – medplant.mahidol.ac.th
สุดยอดสมุนไพรและพืช ช่วยในการทำความสะอาดระบบไหลเวียนของเลือด – vcharkarn.com