ข่าวดีของกลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการเปิดเสรีการใช้กัญชา

0
1397

กัญชาจัดเป็นสารเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ทำให้ในอดีตที่ผ่านมา การเสพกัญชาหรือมีกัญชาไว้ในครอบครองถือเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายไทย ส่วนใหญ่การใช้กัญชาในประเทศไทยจึงเป็นไปในลักษณะการลักลอบเสพเพื่อการผ่อนคลาย กระทั่งไม่นานมานี้ได้มีการพูดถึงแนวคิดการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์และเปิดประเด็นการอนุญาตให้มีการปลูกและครอบครองกัญชาอย่างเสรีทำให้เกิดการตื่นตัว มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

กัญชา

ภาพใบกัญชาจาก pixabay.com

เนื่องจากกัญชาจัดเป็นพืชที่มีทั้งคุณและโทษ ประโยชน์ของกัญชาและสารประกอบในกัญชามีอยู่มากมายเช่นเดียวกับโทษของกัญชาในแง่ที่เป็นสารเสพติดให้โทษ มีฤทธิ์ทั้งกดประสาท หลอนประสาท และกระตุ้นประสาทขึ้นอยู่กับวิธีการเสพและปริมาณความเข้มข้นของสารประกอบในกัญชาที่สำคัญได้แก่ THC การนำกัญชามาใช้ประโยชน์จึงไม่ได้ถูกพิจารณาเป็นเรื่องของเหตุผลในทางการแพทย์อย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาทั้งคุณและโทษประกอบกับอีกหลายๆปัจจัย เช่น กฎหมายในประเทศ ข้อตกลงระหว่างประเทศ อาชญากรรม เหตุผลทางเศรษฐกิจ

ประเทศไทยมีรายงานการใช้กัญชาในตำรับยาแพทย์แผนไทยเดิมมานานแล้ว ตำรับยาที่มีส่วนประกอบของกัญชาในแพทย์แผนไทยใช้สำหรับบรรเทาอาการโรคลม โรคริดสีดวงทวาร และหอบหืด เป็นต้นแต่ยังไม่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ที่เป็นแผนปัจจุบัน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสื่อสาธารณะต่างพากันนำเสนอข่าวนโยบายการเปิดเสรีการใช้กัญชา มีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนออกมาให้ความเห็นสนับสนุนและคัดค้านนโยบายดังกล่าว เสนอให้มีการทบทวนและแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อถอนกัญชาจากรายการยาเสพติดประเภทที่ 5 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้

ปี พ.ศ. 2556 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มีการแก้ไขประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) และมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เรื่องการระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 12) มีการกำหนดเพิ่มเติมเงื่อนไขให้ยกเว้น เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง และเส้นใยแห้งของกัญชา ไม่ให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จึงเสมือนการเปิดประตูให้มีการใช้ประโยชน์จากเส้นใยของกัญชาได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2560 ได้มีการออกกฎกระทรวงเรื่อง ‘การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ. 2559’ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ กำหนด วัตถุประสงค์ในการขอรับใบอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมี ไว้ในครอบครองกัญชง และกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตปลูกกัญชง  ซึ่งถือเป็นข่าวดีของกลุ่มผู้สนับสนุนเปิดเสรีการใช้กัญชาซึ่งคาดว่าจะมีการแก้ไขประกาศเพิ่มเติมอีกหลังจากที่ได้มีการศึกษาประโยชน์ของการใช้กัญชามากขึ้น